ประมวลภาพกิจกรรม MINI SUMMER CAMP

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ) หรือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๗๕ - พ.ศ. ๒๒๓๑ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙ - พ.ศ. ๒๒๓๑) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒๗ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูต นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์บูร์บง

พระราชประวัติ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกัลยาณี อัครราชเทวี พระราชมารดาเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อ วันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๗๕ และทรงมีพระนมอยู่พระองค์หนึ่งคือ เจ้าแม่วัดดุสิต ทรงเป็นพระอนุชาใน สมเด็จเจ้าฟ้าไชย และยังทรงมีพระอนุชาอีกได้แก่ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง และพระอินทราชา

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระองค์มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้านรินทร์" แต่เมื่อขึ้นพระอู่ พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "พระนารายณ์" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์

พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหารย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อนๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหารย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ ๕ พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย
เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ ๙ พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี
สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร

ครองราชย์สมบัติ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอก (ตรงกับวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๙๙) มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า 'สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๒๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะทรงมีพระชนมายุ ๒๕ พรรษา

หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ ๑๐ ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๙ และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุกๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน กระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา ๓๒ ปี มีพระชนมายุ ๕๖ พรรษา ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือ กรมหลวงโยธาเทพ หรือเจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี


พระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก

การทหาร

ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงปราบปรามเมืองน้อยใหญ่ให้เป็นมาสวามิภักดิ์ ทั้งหัวเมืองทางเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ส่วนศึกกับพม่าแม้จะมีอยู่ในเวลานี้ แต่ก็ทรงจัดทัพตีพ่ายกลับไปอยู่เนือง กิจการของกองทัพนับว่ารุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงชำนาญในการศึก คล้องช้าง และทรงซื้ออาวุธจากต่างชาติสำหรับกิจการของกองทัพด้วย

การต่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ฝรั่งที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมหุนายกขณะเดียวกันยังโปรดฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ถึง ๔ ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย

วรรณกรรม

วรรณกรรมที่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เช่น

สมุทรโฆษคำฉันท์ ส่วนตอนต้นเชื่อกันว่าพระมหาราชครูเป็นผู้แต่งแต่ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน สมเด็จพระนารายณ์จึงพระราชนิพนธ์ต่อ โดยเริ่มที่ตอน พิศพระกุฎีอาศรมสถานตระกาลกล ไปจนถึง ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู โอ้แก้วกับตนกู ฤเห็น
คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า) เป็นผลงานของขุนเทพกวี สันนิษฐานว่าแต่งในคราวสมโภชขึ้นระวางเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๓ เป็นต้น
ทั้งยังส่งเสริมงานงานกวี ทำให้มีหนังสื่อเรื่องสำคัญๆ ในรัชสมัยนี้เป็นจำนวนไม่น้อย เช่น โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ของหลวงศรีมโหสถ หนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี (จัดเป็นตำราเรียนเล่มแรกของประเทศไทย) และอนิรุทธคำฉันท์ เป็นต้น