ความรู้น่าอ่าน

ประมวลภาพกิจกรรม MINI SUMMER CAMP

วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2551

พิพิธภัณฑ์หินแปลก

พิพิธภัณฑ์หินแปลก เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน ที่เก็บรวบรวมหินที่มีรูปร่างแปลกๆ จัดแสดงให้สาธารณชนเข้าชม ตั้งอยู่ปากซอยเจริญกรุง 26 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์หินแปลกก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยนายยรรยง เลิศนิมิตร นักธุรกิจสิ่งทอ และนักสะสม ซึ่งได้เก็บรวบรวมหินนับหมื่นๆ ชิ้นจากทั้งในประเทศไทย และจากต่างประเทศ

การจัดแสดง

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงหินแปลกในอาคาร 3 ชั้น ชั้นที่ 1 และ 2 เป็นหินหยก ฟอสซิล หินธรรมชาติ หินย้อย ฯลฯ จำนวนกว่า 2,000 ชิ้น มีการจัดเปลี่ยนแสดงชุดใหม่ทุก 6 เดือน

หินเหล่านี้ประกอบด้วยหินฟอสซิลไม้จากภาคอีสาน หินจากภาคเหนือของประเทศไทย ฟอสซิลหอยทะเลจากเพชรบูรณ์ แต่หินส่วนใหญ่เป็นหินจากภาคกลาง เช่น จังหวัดสระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี อุทัยธานี เป็นต้น หินเหล่านี้มีอายุไม่อย่างน้อย 200 ล้านปีขึ้นไป

หินแปลกที่มีความโดดเด่นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อเรียกตามลักษณะที่แลเห็น ได้แก่ "ผมหงอกบนก้อนหิน" เป็นหินที่มีสาหร่ายเกาะติด ดูเหมือนผมหงอก, "แหลมทอง" รูปร่างคล้ายด้ามขวาน, "ศาลาหลบฝน" คล้ายชะง่อนผายื่นออกมา, "เต่าเทวดา" เป็นหินน้ำหนักกว่า 1,000 กิโลกรัม บริเวณที่เป็นเหมือนกระดองเต่ามีลวดลายสะดุดตามาก และหิน "ยินดีที่ได้พบ" เป็นหินคู่ คล้ายนกเพนกวิน 2 ตัวยืนจับมือกัน นอกจากนี้ยังมีหินที่มีรูปร่างเหมือนสัตว์ต่างๆ มากมาย

สำหรับหินจากต่างประเทศนั้น มีลักษณะที่แปลก และงดงาม เช่น หินจากซาอุดิอาระเบีย มีชื่อว่า "กุหลาบทะเลทราย" เกิดจากแร่ยิปซัมจับตัวกันแน่นกับแบไรต์ และแคลไซต์ตกผลึกเป็นสีขาวบริเวณที่คล้ายกลีบกุหลาบ

พื้นที่ชั้น 3 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงที่เขี่ยบุหรี่จากประเทศต่างๆ กว่า 4,000 ชิ้น ทำจากวัสดุหลากหลาย เช่น ดินเผา กระดูกสัตว์ ไม้ เปลือกหอยมุก คริสตอล ทองเหลือง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีรูปยาซิกาแร็ตที่แถมมากับบุหรี่ ฉลากไม้ขีดไฟและฉลากบุหรี่ของไทยและต่างประเทศ อายุกว่า 50 ปี และของสะสมอื่นๆ อีกมาก

ปัญหา

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์หินแปลกได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชม โดยเก็บค่าเข้าชมในอัตราที่ถูก และไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย พิพิธภัณฑ์มีค่าใช้จ่ายมาก เช่น ค่าพนักงาน ค่าไฟฟ้า รวมแล้วเดือนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท (รวมค่าเช่าอาคารด้วย) นอกจากนี้ยังขาดที่จอดรถ ทำให้ทัวร์จากต่างประเทศไม่นิยมเข้าชม ด้วยเหตุนี้เจ้าของพิพิธภัณฑ์จึงต้องหารายได้เพิ่มจากการขายหินบางชิ้น

อ้างอิง

www.siam-handicrafts.com

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มุมมองสายตานก จากทางทิศตะวันออก
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อสามัญ วัดพระแก้ว
ประเภท พระอารามหลวงชั้นพิเศษ
นิกาย ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ความพิเศษ พระอารามประจำพระบรมมหาราชวัง
พระประธาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
พระพุทธรูปสำคัญ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระสัมพุทธพรรณี พระชัยหลังช้าง พระคันธารราษฎร์ พระนาก
ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว
ที่ตั้ง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
รถประจำทาง 1 3 6 9 15 19 25 43 44 47 53 65 70 80 91 123 201 507
เรือ เรือด่วนเจ้าพระยา: ท่าช้าง เรือข้ามฟาก: ท่าช้าง
เวลาทำการ ทุกวัน 8.00-16.00
จุดที่น่าสนใจ สักการะพระแก้วมรกต ชมจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง
กิจกรรม เทศนาธรรม วันอาทิตย์ และวันพระ
ข้อห้าม ห้ามสวมกางเกงหรือกระโปรง ที่มีชายสูงกว่าเข่าทุกชนิด เสื้อที่เปิดไหล่ทุกชนิด รองเท้าที่เปิดส้นทุกชนิด และกางเกนยีนส์ขาดๆ
การถ่ายภาพ ไม่ควรใช้แฟลช ในถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ภายในพระอุโบสถเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษปรับ และยึดฟิล์ม/สื่อบันทึก
สถานที่ใกล้เคียง กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พิพิธภัณฑ์ฯ ศิลป์ พีระศรี ท่าราชวรดิษฐ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ สนามหลวง ศาลหลักเมือง ท่าพระจันทร์ วัดพระเชตุพน
หมายเหตุ เข้าชมเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องทำหนังสือขออนุญาต ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเงินตรา ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่นำมาจากกรุงเวียงจันทร์ แต่แท้ที่จริงแล้ว พบเจอวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ

วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

อาคารต่างๆในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เนื่องจากภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบเป็นจำนวนมาก จึงขอแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ตามตำแหน่งและความสำคัญ ดังนี้

กลุ่มพระอุโบสถ
กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด มีพระอุโบสถเป็นอาคารประธานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิ์ธาตุพิมาน หอราชพงศานุสรณ์ หอราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง หอพระคันธารราษฏร์ และ พระฤๅษี

กลุ่มฐานไพที
กลุ่มอาคารบริเวณฐานไพที มีอาคารหลักสามหลัง คือ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และวัตถุประดับตกแต่งอื่นๆเช่น รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ บุษบกพระราชลัญจกร นครวัดจำลอง พระสุวรรณเจดีย์ และ พนมหมาก

กลุ่มอาคารประกอบอื่นๆ
เป็นกลุ่มอาคารและสิ่งประดับอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มอาคารทั้งสองกลุ่ม ประกอบด้วย หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่ พระระเบียง ซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

พระอุโบสถ

ตั้งอยู่ส่วนกลางของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม ๘ ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๖ เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) ที่พระองค์ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๒

ในการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ใช้เวลา ๓ ปี สำเร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ต่อมา เมื่อประมาณได้เกิดเพลิงไหม้บุษบกทรงพระแก้วมรกตซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมขึ้นใหม่ให้ทันฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปลายรัชกาล

หลักฐานการก่อสร้างและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ของพระอุโบสถในรัชสมัยนี้ไม่ชัดเจนนัก นอกจากบ่งไว้ว่า ฝาผนังรอบนอกเป็นลายรดน้ำปิดทองรูปกระหนกเครือแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกในบนพื้นสีชาด ฝาผนังด้านในเหนือประตูด้านสกัดเป็นภาพเรื่องมารวิชัยและเรื่องไตรภูมิ

ส่วนฝาผนังด้านยาวเขียนภาพเทพชุมนุมตามแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ฝาผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเรื่องปฐมสมโพธิ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบซึ่งปรากฏว่ามีการแก้ไขในรัชกาลที่ ๓ และ ๔ ในภายหลังดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน

พระทวารกลาง เป็นพระทวารใหญ่สูง ๘ ศอกคืบ กว้าง ๔ ศอกคืบ ตัวบานเป็นบานประดับมุกลายช่องกลม ส่วนพระทวารข้างเป็นทวารรองสูง ๗ ศอก กว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว ตัวบานเป็นบานประดับมุกกลายเต็ม ซึ่งบานพระทวารทั้ง ๒ แห่งนี้ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานความเห็นว่า "เป็นฝีมือที่น่าชมยิ่ง ตั้งใจทำแข่งกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอด"

ภายในพระอุโบสถได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตั้งแต่เพดานถึงพื้น กลางห้องประดิษฐานพระแก้วมรกตในบุษบกทองคำพร้อมด้วยพระพุทธรูปสำคัญมากมาย

พระพุทธรูปสำคัญภายในพระอุโบสถ

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนตอนต้น ทำจากหินหยกสีเขียวเข้มทึบแสง ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๔๓ ซม. สูง ๕๕ ซม.

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างอุทิศให้กับรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร สูง ๓ เมตร ทรงเครื่องต้นพระจักรพรรดิราช เป็นพระพุทธรูปสำริดหุ้มทองคำลงยาราชาวดี เครื่องต้นประดับเนาวรัตน์ ใช้ทองคำเท่ากับทองที่หุ้มพระศรีสรรเพชญ ในสมัยอยุธยา

พระสัมพุทธพรรณี รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างใน พ.ศ. ๒๓๗๓ ตามอย่างพุทธลักษณะที่พระองค์ทรงสอบสวนได้ สร้างจากกะไหล่ทองคำ ปางสมาธิหน้าตักกว้าง ๔๙ ซม. สูงถึงพระรัศมี ๖๗.๕ ซม. มีการเปลี่ยนพระรัศมีเป็นสีต่าง ๆ ตามฤดูกาล พร้อมกับการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต

ข้อแนะนำในการเที่ยวที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่งกายให้สุภาพ ห้ามสวมเสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้น กางเกงสามส่วน
ไม่ควรใช้แฟลชในการถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับภาพจิตกรรมได้
ภายในอาคารอื่นทั้งหมดโดยเฉพาะพระอุโบสถ ห้ามถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษปรับ และยึดสื่อบันทึก

วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

วินโดวส์ไลฟ์ ฮอตเมล

Windows Live Hotmail
วินโดวส์ไลฟ์ ฮอตเมล หน้าวันนี้ ภาษาไทย
ผู้พัฒนา: ไมโครซอฟท์
รุ่นล่าสุด: 1.0 / 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
รุ่นทดสอบ: "M10" / 28 มีนาคม พ.ศ. 2550
ภาษาที่ใช้ได้: หลากหลายภาษา
ประเภท: อีเมล เว็บเมล
เว็บไซต์: http://mail.live.com

วินโดวส์ไลฟ์ ฮอตเมล (Windows Live Hotmail) หรือก่อนหน้านี้เรียกว่า วินโดวส์ไลฟ์ เมล เป็นบริการฟรีเว็บเมลจากไมโครซอฟท์ โดยปัจจุบันอยู่ในระยะพัฒนา ซึ่งได้ออกแบบเพื่อแทนที่ฮอตเมลในปัจจุบัน โดยความมีความสามารถเด่นคือการใช้เทคนิคเอแจ็กซ์ พื้นที่ความจุ 5 จิกะไบต์ สนับสนุนยูนิโคด และมีระบบความปลอดภัยหลายอย่างด้วยกัน

ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ผู้สมัครบัญชีฮอตเมลจะถูกสร้างเป็นบัญชีวินโดวส์ไลฟ์ ฮอตเมลโดยอัตโนมัติ และผู้ใช้ปัจจุบันสามารถอัปเดตด้วยการคลิกที่ปุ่ม Join Windows Live Hotmail สีเขียว ปัจจุบันนี้วินโดวส์ไลฟ์ ฮอตเมลรองรับ 36 ภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาไทย

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2551

มงคล ๓๘ ประการ


มงคล คือเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต" ซึ่งมี ๓๘ ประการได้แก่

๑. การไม่คบคนพาล ๒. การคบบัญฑิต ๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร ๕. เคยทำบุญมาก่อน ๖. การตั้งตนชอบ
๗. ความเป็นพหูสูต ๘. การรอบรู้ในศิลปะ ๙. มีวินัยที่ดี
๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต ๑๑.การบำรุงบิดามารดา ๑๒.การสงเคราะห์บุตร
๑๓.การสงเคราะห์ภรรยา ๑๔.ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ๑๕.การให้ทาน
๑๖.การประพฤติธรรม ๑๗.การสงเคราะห์ญาติ ๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ
๑๙.ละเว้นจากบาป ๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒.มีความเคารพ ๒๓.มีความถ่อมตน ๒๔.มีความสันโดษ
๒๕.มีความกตัญญู ๒๖.การฟังธรรมตามกาล ๒๗.มีความอดทน
๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย ๒๙.การได้เห็นสมณะ ๓๐.การสนทนาธรรมตามกาล
๓๑.การบำเพ็ญตบะ ๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์ ๓๓.การเห็นอริยสัจ
๓๔.การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศก
๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส ๓๘.มีจิตเกษม

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา


อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา
ชื่อเรียก

ภาษาอังกฤษ Historic Town of Ayutthaya and Associated Historic Towns
ภาษาฝรั่งเศส Ville historique d'Ayutthaya et villes historiques associées
ภาษาเยอรมัน Geschichtspark Ayutthaya
ภาษาเวียดนาม Công viên lịch sử Ayutthaya
ภาษาญี่ปุ่น 古代都市アユタヤと周辺の古代都市群
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ไทย
ประเภท มรดกทางวัฒนธรรม
ปีที่ขึ้นทะเบียน พ.ศ. 2534

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534


ประวัติ
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากการสำรวจพบว่า มีโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับโบราณสถานของกรุงศรีอยุธยา ได้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาโบราณราชธานินท์ ข้าหลวงมณฑลกรุงเก่าทำการขุดแต่งพระที่นั่งบางองค์ในเขตพระราชวังหลวง ซึ่งในขณะนั้นรกมาก เนื่องจากอิฐหัก กากปูนทับถมกว่าร้อยปี

ต่อมาในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มโครงการบูรณะพระที่นั่ง และวัดต่างๆ โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล

ปี พ.ศ. 2512 ได้มีโครงการชื่อ โครงการสำรวจขุดแต่งและบูรณะปรับปรุงโบราณสถาน โดยมีความพยายามที่จะประสานงานร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในอันที่จะอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไว้ ในที่สุด พ.ศ. 2519 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของงานชิ้นใหม่ แล้วจัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้น และเริ่มทำการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานเป็นต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520


เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกโลก
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยมีเหตุผลตามเกณฑ์การพิจารณาคือ

(i) - เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด
(iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

ราชวงศ์สุโขทัย

ราชวงศ์สุโขทัย เป็นราชวงศ์กษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยา ที่สืบเชื้อสายจากกษัตริย์สุโขทัย ประกอบด้วย

๑. สมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ ทรงปรับปรุงพระนครเพื่อรับมือข้าศึก เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ เสด็จสวรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๓ ครองราชย์ทั้งสิ้น ๒๑ ปี

๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ ทรงประกาศอิสรภาพจากการเป็นประเทศราชของพม่า ทรงทำสงครามเพื่อกอบกู้เอกราช ทรงปรับปรุงการปกครองเพื่อดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้นเพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๓ เสด็จสวรคตเมือ พ.ศ. ๒๑๔๘ ครองราชย์ทั้งสิ้น ๑๕ ปี

๓. สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓ ทรงประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีอากรรูปเเบบใหม่เพิ่มขึ้น เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๘ เสด็จสวรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๓ ครองราชย์ทั้งสิ้น ๑๕ ปี

๔. สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๔ เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๓ เสด็จสวรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๓ ครองราชย์ไม่ถึงปี

๕. สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ ทรงประกาศใช้กฎหมายการศาล เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๓ เสด็จสวรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๑ ครองราชย์ทั้งสิ้น ๘ ปี

๖. สมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ ส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับญี่ปุ่นในปี พ.ศ. ๒๑๗๓ เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๑ เสด็จสวรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ ครองราชย์ทั้งสิ้น ๒ ปี

๗. สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ เสด็จสวรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๐ ครองราชย์ทั้งสิ้น ๖ ปี

นก


นก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ไฟลัมย่อย Vertebrata
ชั้นไม่จัดอันดับ Archosauria
ชั้น Aves
Linnaeus, 1758

นก จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้น Aves (คำว่า Aves เป็นภาษาละติน หมายถึง นก) โดยมีลักษณะทั่วไปคือ เป็นสัตว์ทวิบาท เลือดอุ่น ออกลูกเป็นไข่ รยางค์คู่หน้าเปลี่ยนแปลงไปเป็นปีก มีขนนก และมีกระดูกที่กลวงเบา

ในปัจจุบันทั่วโลกมีนกอยู่ประมาณ 8,800 ถึง 9,800 ชนิด (ตามการจัดอนุกรมวิธานที่ต่างกัน) ซึ่งนับว่านกเป็นชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายมากที่สุด ในบรรดาชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหลายที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน ความหลากหลายของนกนับเนื่องไปตั้งแต่ในเรื่องของขนาดตัว สีสัน เสียงร้อง อาหารการกิน และถิ่นที่อยู่อาศัย

นกเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญเป็นอันมากทั้งต่อระบบนิเวศและต่อชีวิตมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนกเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น และการเกื้อกูลกันระหว่างนกกับสรรพสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติก็เป็นไปอย่างแนบแน่น ถ้าหากปราศจากนก คงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงการดำรงอยู่ต่อไปของชีวภาคใบนี้

วิวัฒนาการ

นกมีความคล้ายคลึงกับสัตว์เลื้อยคลานหลายประการ เช่น โครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อ เกล็ดที่ขา การออกลูกเป็นไข่ และการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จึงเชื่อกันว่านกในปัจจุบันถือกำเนิดมาจากสัตว์เลื้อยคลาน

ยิ่งไปกว่านั้น มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์จำนวนมากยืนยันว่านกมีวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์เทอโรพอด ตัวอย่างเช่น ซากดึกดำบรรพ์อาร์คีออพเทอริกซ์ที่ค้นพบในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1861 ซากดึกดำบรรพ์นี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี บ่งบอกว่าอาร์คีออพเทอริกซ์อาศัยอยู่ในยุคจูแรสสิก และมีลักษณะกึ่งนกกึ่งเทอโรพอด โดยอาร์คีออพเทอริกซ์ต่างจากนกในปัจจุบันตรงที่มีสามเล็บยื่นออกมาจากอุ้งมือ มีฟันที่ปาก และมีกระดูกหางยาว แต่ขณะเดียวกันบริเวณลำตัวก็มีขนนกปกคลุม ทำให้นักปักษีวิทยาเชื่อว่าอาร์คีออพเทอริกซ์น่าจะเป็นบรรพบุรุษของนกในปัจจุบัน

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์คริพโทโวแลนส์ที่ประเทศจีน ซึ่งมีสันที่กระดูกอก และส่วนยื่นรูปตะขอที่ซี่โครง ซากดึกดำบรรพ์คริพโทโวแลนส์จึงนับว่ามีความเป็นนกมากกว่าซากดึกดำบรรพ์ใดๆ ที่เคยค้นพบ

กายวิภาคเพื่อการบิน
ทุกส่วนในร่างกายของนกถูกดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นเจ้าเวหาอย่างแท้จริง เริ่มจากกระดูก ที่ภายในมีลักษณะกลวงคล้ายรวงผึ้ง ทำให้เบาแต่แข็งแรง นกบางชนิดในวงศ์นกโจรสลัด เมื่อกางปีกจะกว้างถึง 2 เมตร แต่น้ำหนักกระดูกทั้งหมดเพียงแค่ 113 กรัมเท่านั้น

นอกจากนี้อวัยวะภายในบางอย่างของนกจะถูกตัดทอนออกไปเพื่อลดน้ำหนักตัวให้ได้มากที่สุด เช่นรังไข่ของตัวเมียที่เหลือเพียงข้างเดียว และปากที่ไร้ฟัน โดยนกจะไม่เคี้ยวอาหาร แต่กลืนลงไปย่อยในกึ๋นแทน

การบินของนกต้องใช้พลังงานจากเมแทบอลิซึมเป็นอย่างมาก นกจึงมีระบบหายใจและระบบหมุนเวียนโลหิตอันทรงประสิทธิภาพ จากหัวใจที่มี 4 ห้อง และท่อที่เชื่อมต่อระหว่างปอดกับถุงลมทั่วลำตัว

เพื่อความปลอดภัยในการบิน นกจึงต้องมีสัมผัสอันว่องไว โดยเฉพาะสัมผัสทางสายตา นกบางชนิดมีสายตาอันคมกริบ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสายตาที่ดีที่สุดในบรรดาสายตาของสัตว์มีกระดูกสันหลังด้วยกัน สมองส่วนรับภาพของนกพัฒนาไปมาก เช่นเดียวกับสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว เพราะการบินที่ดีต้องอาศัยการประสานงานที่ดีของทุกส่วนในร่างกายนั่นเอง

สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการบินคือ ปีก นกมีปีกที่เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์ ซึ่งช่วยให้เกิดแรงยกขณะบิน ในการกระพือปีก นกจะใช้กล้ามเนื้ออกอันแข็งแรงที่ติดอยู่กับกระดูกอก นกที่บินเร็วที่สุดคือนกในวงศ์นกแอ่นบินเร็ว ซึ่งบินได้เร็วถึง 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ส่วนขนนกนั้นนับว่าเป็นพัฒนาการที่พิเศษสุดอย่างหนึ่งในบรรดาพัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ขนนกเป็นส่วนประกอบของเคราติน มีลักษณะเบาแต่แข็งแรง ขนนกช่วยป้องกันนกจากแสงแดด ช่วยในการหาคู่ ช่วยในการปรับอุณหภูมิของร่างกาย และที่สำคัญที่สุดคือช่วยในด้านการบินของนก

ความเป็นอยู่

อาหารการกิน
ในแต่ละวันนกต้องการอาหารจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism) โดยนกแต่ละชนิดจะหาอาหารที่แตกต่างกันออกไป นกบางชนิดเลี้ยงชีพด้วยน้ำต้อย บางชนิดเลี้ยงชีพด้วยธัญพืช แมลง สัตว์พวกหนู สัตว์พวกกิ้งก่า ปลา ซากเน่า ไปจนถึงนกด้วยกัน นกจะพัฒนารูปร่าง ปีก ขา และปาก ให้มีลักษณะเหมาะสมกับการหาอาหาร นกส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางวัน มีนกเพียงบางชนิดเท่านั้นที่หากินในเวลากลางคืน

นกบางชนิดหากินร่วมกันเป็นฝูง เช่น ฝูงนกนางนวลที่บินร่อนหาปลาตามชายทะเล หรือฝูงนกเป็ดน้ำรวมตัวกันแหวกว่ายอยู่ในบึง ซึ่งการหากินร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ช่วยให้นกหาอาหารง่ายขึ้นและได้ปริมาณมากกว่าหากินตามลำพัง รวมทั้งยังช่วยกันระวังภัยได้เป็นอย่างดี

ส่วนนกบางชนิดก็มีพฤติกรรมการหาอาหารร่วมกับสัตว์อื่น เช่น นกเอี้ยงที่หากินร่วมกับวัวควาย โดยนกเอี้ยงจะคอยจับแมลงที่พากันบินหนีขึ้นมาเมื่อวัวควายเดินย่ำไปบนดิน นอกจากนี้นกเอี้ยงยังชอบเกาะบนตัววัวควายเพื่อจับแมลงที่บินตอมตามตัววัวควายอีกด้วย


ถิ่นอาศัย
นกแต่ละชนิดมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับถิ่นอาศัยต่างๆ เราจึงสามารถพบนกได้ทุกหนทุกแห่งในสภาพแวดล้อมอันหลากหลาย ซึ่งพอจะแบ่งถิ่นอาศัยของนกได้ดังนี้

บริเวณชายหาดและท้องทะเล
มีนกหลายชนิดที่เดินหากินตามแนวหาดทรายชายทะเล เช่น นกหัวโตมลายู และ นกยางทะเล เป็นต้น ขณะที่นกหลายชนิดโผผินบินร่อนอยู่ตามหน้าผาริมทะเล หรือแม้แต่ในทะเลลึกก็เป็นแหล่งหากินของนกขนาดใหญ่ เช่น นกโจรสลัด ซึ่งนกโจรสลัดสามารถบินวนอยู่บนท้องฟ้าได้เป็นเวลาหลายวันโดยไม่ต้องร่อนลงบนพื้นดิน โดยนกที่หากินในท้องทะเลนี้ เรามักเรียกว่า นกทะเล
บริเวณป่าชายเลนและปากแม่น้ำ
ตามแนวชายฝั่งที่มีไม้ชายเลนขึ้นหนาแน่นเป็นถิ่นอาศัยของนกมากมาย เช่น นกกินเปรี้ยว และ เหยี่ยวแดง เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะมีนกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาพักอาศัยเป็นจำนวนมาก นกที่หากินตามป่าชายเลนนี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่า นกชายเลน นอกจากนี้ก็มีฝูงนกนางนวลซึ่งเป็นนกทะเลหากินบริเวณนี้ด้วย
บริเวณทุ่งหญ้า ที่ลุ่มน้ำขัง และหนองบึง
พื้นที่เกษตรกรรมแถบชานเมืองหรือในชนบทเป็นที่อยู่ของนกหลายชนิด นกที่อาศัยอยู่ตามทุ่งนาหรือทุ่งหญ้าโล่ง เรามักเรียกกันว่า นกทุ่ง เช่น นกตะขาบทุ่ง นกกระจิบหญ้า เป็นต้น ส่วนนกที่อาศัยตามแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง ทะเลสาบ เรามักเรียกว่า นกน้ำ เช่น นกยาง นกเป็ดน้ำ และ นกกวัก เป็นต้น
ป่าไม้ประเภทต่างๆ
ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีนกอาศัยอยู่มากกว่าแห่งอื่น เนื่องจากเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตของนกนานาชนิด เช่น นกเงือก นกขุนแผน นกโพระดก และ นกแต้วแล้ว เป็นต้น นกที่อาศัยหากินในป่ามีชื่อเรียกโดยรวมว่า นกป่า
สภาพแวดล้อมอื่นๆ
นกบางชนิดมีการปรับตัวจนสามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แม้แต่สัตว์อื่นยังอาศัยอยู่ได้ยาก เช่น ทะเลทราย ขั้วโลกใต้ หรือแม้แต่ในเมือง
ในปัจจุบันมีการนำดีเอ็นเอมาใช้จัดจำแนกนกแล้ว โดยงานที่สำคัญคือ Sibley & Ahlquist's Phylogeny and Classification of Birds (1990) แต่การจัดจำแนกนกในที่นี้ยึดตาม Handbook of Birds of the World ซึ่งจัดอันดับนกโดยอาศัยลักษณะทางสัณฐานวิทยาเป็นหลัก และแบ่งนกออกเป็นอันดับต่างๆ ดังนี้


Paleognathae
อันดับใหญ่ Paleognathae (ตามรากศัพท์แปลว่า ขากรรไกรแบบเก่า) ประกอบด้วยนกอันดับต่างๆ ดังนี้

อันดับแรไทท์ (Struthioniformes)
อันดับนกไทแนมู (Tinamiformes)

Neognathae
อันดับใหญ่ Neognathae (ตามรากศัพท์แปลว่า ขากรรไกรแบบใหม่) ประกอบด้วยนกอันดับต่างๆ ดังนี้

อันดับห่าน (Anseriformes)
อันดับไก่ (Galliformes)
อันดับนกเพนกวิน (Sphenisciformes)
อันดับนกลูน (Gaviiformes)
อ้นดับนกเป็ดผี (Podicipediformes)
อันดับนกจมูกหลอด (Procellariiformes)
อันดับนกเพลิแกน (Pelecaniformes)
อันดับนกกระสา (Ciconiiformes)
อันดับเหยี่ยว (Accipitriformes)
อันดับหยี่ยวปีกแหลม (Falconiformes)
อันดับนกคุ่มแท้ (Turniciformes)
อันดับนกกระเรียน (Gruiformes)
อันดับนกหัวโต (Charadriiformes)
อันดับนกแซนด์เกราส์ (Pteroclidiformes)
อันดับนกพิราบ (Columbiformes)
อันดับนกแก้ว (Psittaciformes)
อันดับนกคัคคู (Cuculiformes)
อันดับนกเค้า (Strigiformes)
อันดับนกตบยุง (Caprimulgiformes)
อันดับนกแอ่น (Apodiformes)
อันดับนกตะขาบ (Coraciiformes)
อันดับนกหัวขวาน (Piciformes)
อันดับนกขุนแผน (Trogoniformes)
อันดับนกโคลี (Coliiformes)
อันดับนกจับคอน (Passeriformes) '

อ้างอิง
-http://en.wikipedia.org/wiki/bird
-รุ่งโรจน์ จุกมงคล, นก, สารคดี, 2542. ISBN 9748211711.
นำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนก การดูนก และนกวงศ์ต่างๆ ในประเทศไทย
-โอภาส ขอบเขตต์, นกในเมืองไทย, สารคดี, 2541. ISBN 9748211703.
หนังสือเกี่ยวกับนกในเมืองไทยที่ละเอียดที่สุดในปัจจุบัน เขียนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปักษีวิทยาของเมืองไทย หนึ่งชุดมีห้าเล่ม
-Boonsong Lekagul, Philip D. Round, A guide to the birds of Thailand, Saha Karn Bhaet, 1991. ISBN 9748567362.
คู่มือที่นักดูนกเมืองไทยทุกคนต้องมี
-Neil A. Campbell, Jane B. Reece, Biology, Addison-Wesley, 2002. ISBN 0201750546.
ในบทที่ 34 มีกล่าวถึงนกอยู่พอสังเขป