ประมวลภาพกิจกรรม MINI SUMMER CAMP

วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2551

พิพิธภัณฑ์หินแปลก

พิพิธภัณฑ์หินแปลก เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน ที่เก็บรวบรวมหินที่มีรูปร่างแปลกๆ จัดแสดงให้สาธารณชนเข้าชม ตั้งอยู่ปากซอยเจริญกรุง 26 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์หินแปลกก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยนายยรรยง เลิศนิมิตร นักธุรกิจสิ่งทอ และนักสะสม ซึ่งได้เก็บรวบรวมหินนับหมื่นๆ ชิ้นจากทั้งในประเทศไทย และจากต่างประเทศ

การจัดแสดง

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงหินแปลกในอาคาร 3 ชั้น ชั้นที่ 1 และ 2 เป็นหินหยก ฟอสซิล หินธรรมชาติ หินย้อย ฯลฯ จำนวนกว่า 2,000 ชิ้น มีการจัดเปลี่ยนแสดงชุดใหม่ทุก 6 เดือน

หินเหล่านี้ประกอบด้วยหินฟอสซิลไม้จากภาคอีสาน หินจากภาคเหนือของประเทศไทย ฟอสซิลหอยทะเลจากเพชรบูรณ์ แต่หินส่วนใหญ่เป็นหินจากภาคกลาง เช่น จังหวัดสระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี อุทัยธานี เป็นต้น หินเหล่านี้มีอายุไม่อย่างน้อย 200 ล้านปีขึ้นไป

หินแปลกที่มีความโดดเด่นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อเรียกตามลักษณะที่แลเห็น ได้แก่ "ผมหงอกบนก้อนหิน" เป็นหินที่มีสาหร่ายเกาะติด ดูเหมือนผมหงอก, "แหลมทอง" รูปร่างคล้ายด้ามขวาน, "ศาลาหลบฝน" คล้ายชะง่อนผายื่นออกมา, "เต่าเทวดา" เป็นหินน้ำหนักกว่า 1,000 กิโลกรัม บริเวณที่เป็นเหมือนกระดองเต่ามีลวดลายสะดุดตามาก และหิน "ยินดีที่ได้พบ" เป็นหินคู่ คล้ายนกเพนกวิน 2 ตัวยืนจับมือกัน นอกจากนี้ยังมีหินที่มีรูปร่างเหมือนสัตว์ต่างๆ มากมาย

สำหรับหินจากต่างประเทศนั้น มีลักษณะที่แปลก และงดงาม เช่น หินจากซาอุดิอาระเบีย มีชื่อว่า "กุหลาบทะเลทราย" เกิดจากแร่ยิปซัมจับตัวกันแน่นกับแบไรต์ และแคลไซต์ตกผลึกเป็นสีขาวบริเวณที่คล้ายกลีบกุหลาบ

พื้นที่ชั้น 3 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงที่เขี่ยบุหรี่จากประเทศต่างๆ กว่า 4,000 ชิ้น ทำจากวัสดุหลากหลาย เช่น ดินเผา กระดูกสัตว์ ไม้ เปลือกหอยมุก คริสตอล ทองเหลือง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีรูปยาซิกาแร็ตที่แถมมากับบุหรี่ ฉลากไม้ขีดไฟและฉลากบุหรี่ของไทยและต่างประเทศ อายุกว่า 50 ปี และของสะสมอื่นๆ อีกมาก

ปัญหา

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์หินแปลกได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชม โดยเก็บค่าเข้าชมในอัตราที่ถูก และไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย พิพิธภัณฑ์มีค่าใช้จ่ายมาก เช่น ค่าพนักงาน ค่าไฟฟ้า รวมแล้วเดือนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท (รวมค่าเช่าอาคารด้วย) นอกจากนี้ยังขาดที่จอดรถ ทำให้ทัวร์จากต่างประเทศไม่นิยมเข้าชม ด้วยเหตุนี้เจ้าของพิพิธภัณฑ์จึงต้องหารายได้เพิ่มจากการขายหินบางชิ้น

อ้างอิง

www.siam-handicrafts.com